จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ คือสถาปัตยกรรมในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่
1 ถึง รัชกาลปัจจุบัน) เป็นยุคที่ได้รับอิทธิพลจากจากตะวันตก
วิชาชีพสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มเป็นที่รู้จัก
และถือได้ว่าการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมแผนใหม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งสถาบันการศึกษาสถาปัตยกรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี
พ.ศ. 2476 โดยอาจารย์นารถ โพธิประสาท และการก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในปี พ.ศ.
2477
สถาปัตยกรรมทางศาสนา
วัดในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
มีรูปแบบดำเนินรอยตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา เช่น
การสร้างโบสถ์วิหารให้มีฐานโค้ง การสร้างหอไตรหรือหอพระไตรปิฎกกลางน้ำ เป็นต้น
ต่อมาเมื่อมีการทำมาค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น จึงได้รับอิทธิพล ที่เห็นได้ชัดคือ
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ได้รับอิทธิพลจีน
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด เช่น ได้เอาช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ออก
โดยเปลี่ยนมาเป็นก่ออิฐถือปูนและใช้ลวดลายดินเผาเคลือบประดับหน้าแทนการใช้ไม้สลักแบบเดิม
นิยมใช้เสาเป็นสี่เหลี่ยมทึบ ไม่มีบัวเสา
วัดที่มีการผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตกเช่น วัดนิเวศธรรมประวัติ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศิลปะแบบกอธิค
วัง
สถาปัตยกรรมในรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา 3 แห่ง คือพระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวรสถานมงคลพระราชวังบวรสถานพิมุข โดยทั้งตำแหน่งที่ตั้งนั้นยึดหลักยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ ตามตำราพิชัยสงคราม คือ "มีแม่น้ำโอบล้อมภูเขาหรือหากหาภูเขาไม่ได้
มีแม่น้ำเพียงอย่างเดียวก็ได้ เรียกว่า นาคนาม"
ที่อยู่อาศัยของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางไทยผู้สูงศักดิ์ในสมัยนั้น
เรียกขานตามแต่บรรดาศักดิ์ ให้เห็นถึงยศที่ชัดเจน อาทิ พระตำหนัก พระที่นั่ง
พระวิมาน หรือพระมหาปราสาท โดยเฉพาะพระวิมานและพระมหาปราสาท
ใช้เฉพาะเรือนที่มีเจ้าของเป็นพระมหากษัตริืย์เท่านั้น
ส่วนที่ประทับของพระมหากษัตริย์หรือแม้จะเป็นพระมหาอุปราช เรียกว่า พระราชวัง
เว้นแต่พระราชวังประทับถาวรของพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่เรียกว่า พระบรมมหาราชวัง วังหลายแห่งเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะไทยแขนงต่าง
ๆ อันเนื่อง วังมักเป็นโรงงานช่างหรือโรงฝึกงานช่าง อย่างช่างสิบหมู่
ลักษณะของ ปราสาท พระราชวัง พระบรมมหาราชวัง ของพระมหากษัตริย์
พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง แบ่งได้เป็น 3 สมัย คือ สมัยต้น (ร.1-3) เป็นยุคสืบทอดสถาปัตยกรรมแบบกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
สมัยกลาง (ร.4-6) ซึ่งประเทศไทยได้รับอิทธิสถาปัตยกรรมตะวันตก
และสมัยหลัง (ร.7-ปัจจุบัน)
เป็นยุคแห่งสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
ที่พักอาศัย
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงกรุงรัตนโกสินทร์
พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเหมือนกรุงศรีอยุธยาแห่งที่สอง
มีการสร้างสถาปัตยกรรมที่สำคัญเลียนแบบกรุงศรีอยุธยา ส่วนบ้านพักอาศัย
เรือนไทยที่คงเหลือจากสงครามก็ถูกถอดและนำประกอบใหม่
สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้น
มีการสร้างอาคารต่างชนิดเพื่อรองรับกิจกรรมทางธุรกิจนอกเหนือจากที่อยู่
อาศัยและวัดวาอารามในอดีต ได้แก่ โรงงาน โรงสี โรงเลื่อย
ห้างร้านและที่พักอาศัยของชาวตะวันตก นอกจากนี้การสร้างอาคารของทางราชการ
กระทรวงต่าง ๆ และพระราชวังที่มีรูปแบบตะวันตกผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทย เช่น
พระที่นั่งจักรมหาปราสาท พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น
สำหรับที่พักอาศัย ในการประยุกต์ยุกแรก ๆ
เรือนไม้จะนำศิลปะตะวันตกมาประยุกต์ เช่นเรือนปั้นหยา ซึ่งดัดแปลงมาจากเรือนไม้ของยุโรป
สร้างขึ้นในพระราชวังก่อนแพร่หลายสู่บ้านเรือนประชาชน
หลังคาเรือนปั้นหยาซึ่งมุงด้วยกระเบื้องโดยทุกด้านของหลังคาจะชนกันแบบปิรามิด
ไม่มีหน้าจั่วแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม จากนั้นได้วิวัฒนาการเป็นเรือนมะนิลา
ในบางส่วนอาจเป็นหลังคาปั้นหยา แต่เปิดบางส่วนให้มีหน้าจั่ว หลังจากนั้นก็มีเรือนขนมปังขิง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเรือนขนมปังขิงสมัยโบราณของตะวันตก
ซึ่งมีการตกแต่งอย่างหรูหรา มีครีบระบายอย่างแพรวพราว
โดยทั้งเรือนขนมปังขิงและเรือนมะนิลา
เป็นศิลปะฉลุลายที่เฟื่องฟูมากในสมัยรัชกาลที่ 5-6
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการให้กรรมสิทธิ์ที่ดิน อีกทั้งเกิดย่านตลาดเป็นศูนย์กลางชุมชน
ทำให้เกิดที่พักอาศัยและร้านค้าตามย่านหัวเมือง เรียกสถาปัตยกรรมเช่นนี้ว่า
เรือนโรง มีลักษณะเป็นเรือนพื้นติดดิน ไม่ตั้งอยู่บนเสาสูงเช่นเรือนไทยในอดีต
ตั้งอยู่ยานชุมชนการค้าชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าขาย โดยเปิดหน้าร้านสำหรับขายของ
ส่วนด้านหลังไว้พักอาศัย เมื่อเรียงรายกันเป็นแถวจึงกลายเป็น ห้องแถว ในเวลาต่อมา
ถึงแม้ว่าเรือนไทยจะได้รับอิทธิพลตะวันตก แต่คนไทยก็ยังถือเรื่องคติการสร้างบ้านแบบไทย
ๆ อยู่เช่น การยกเสาเอกและการถือเรื่องทิศ
ต่อมาสถาปนิกและนักตกแต่งซึ่งสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศได้กลับนำมาใช้ในการทำงาน
ทำให้มีแนวโน้มนำเอารูปแบบสถาปัตยกรรมอื่นมาด้วย
ในปัจจุบันสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะในเมืองหลวงในตามเมืองใหญ่ ๆ
แทบไม่หลงเหลือรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยในอดีต สถาปัตยกรรมในยุคหลังอุตสาหกรรมได้เน้นการสร้างความงามจากโครงสร้าง
วัสดุ การออกแบบโครงสร้างให้มีความสวยงามในตัว เช่นใช้เหล็ก ใช้กระจกมากขึ้น
ผนังใช้อิฐและปูนน้อยลง ใช้โครงสร้างเหล็กมากขึ้น ออกแบบรูปทรงให้เป็นกล่อง
ผนังเป็นกระจกโล่ง เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น